7 บ้านสไตล์โมเดิร์นพร้อมใต้ถุน การผสมผสานเพื่อการใช้งานที่เหนือกว่า

Pattareeya Pattareeya
Casa de Madeira - Criança, CASA & CAMPO - Casas pré-fabricadas em madeiras CASA & CAMPO - Casas pré-fabricadas em madeiras
Loading admin actions …

สังคมไทยในสมัยโบราณเป็นชุมชนใกล้น้ำ ก่อนที่จะมีถนน ผู้คนสัญจรกันทางน้ำ หันบ้านเรือนเข้าหาแม่น้ำ ตามริมแม่น้ำมีบ้านสวยริมน้ำเรียงรายเต็มไปหมด พอช่วงฤดูฝนก็มีช่วงที่เรียกว่าฤดูน้ำหลาก แต่ก็ไม่เป็นปัญหากับการใช้ชีวิตเสียเท่าไหร่ เพราะชีวิตได้ปรับให้รับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้อยู่แล้ว แม้แต่เรื่องที่อยู่อาศัย บ้านไทยสมัยก่อนมักยกพื้นสูง มีใต้ถุน หากน้ำมาก็ไหลผ่านง่าย ไม่ปะทะผนังบ้านมากนัก ส่วนในฤดูไม่มีน้ำ ใต้ถุนนี้ก็ใช้เป็นที่นั่งเล่น พักผ่อน เป็นศูนย์รวมของคนในบ้านที่จะมาพบปะ สังสรรค์กัน

แต่ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป รูปแบบการสร้างบ้านก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย เดี๋ยวนี้จึงมีคนจำนวนน้อยที่จะสร้างบ้านแบบบ้านไทย ทั้งด้วยเรื่องมูลค่าการก่อสร้างที่แพงขึ้น วัสดุก่อสร้างที่จะนำมาใช้ทำบ้านและช่างฝีมือที่อาจหายาก และที่สำคัญคือ ความนิยม 

ถึงอย่างนั้น หากเราต้องการจะนำองค์ประกอบที่เป็นเหมือนภูมิปัญญาในเรื่องงานสถาปัตยกรรมของไทย อย่างใต้ถุนมาประกอบกับอาคารยุคใหม่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ แถมยังสามารถสร้างออกมาให้ดูกลมกลืนสวยงาม ใครที่คิดว่าหากอยากมีบ้านแบบมีใต้ถุนแล้วต้องสร้างบ้านแบบไทยครึ่งฝรั่งครึ่งนั้นขอให้ลองดูใหม่ เพราะไม่จำเป็น อย่างบ้านตัวอย่างที่นำมาเสนอในไอเดียบุคนี้ทั้ง 8 หลังก็จุดประกายความคิดได้ดีเช่นกัน

จะบ้านสไตล์โมเดิร์น บ้านสไตล์มินิมัลที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ หรือบ้านสไตล์ไหน ก็เสริมใต้ถุนเข้าไปเพื่อการใช้งานที่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศบ้านเราได้ ว่าแล้วก็ตามไปชมกัน

1. บ้านทรงกล่องกับใต้ถุนแนวประยุกต์

บ้านหน้าตาสุดแสนทันสมัยจากญี่ปุ่นหลังนี้ จะว่าไปก็ไม่ได้ยกใต้ถุนจริงจังนัก หากแต่เป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับพื้นที่ตรงเทอร์เรซหน้าบ้านให้กลายเป็นใต้ถุนนั่นเอง

แทนที่จะทำลานหน้าบ้านหรือชานบ้านแบบปูพื้นโล่งๆ ทางสถาปนิกได้ออกแบบให้มีส่วนที่เป็นคล้ายดาดฟ้ายื่นออกมาจากหน้าบ้าน เป็นระเบียงชมวิวขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่สังสรรค์ที่เตรียมไว้ตอบสนองการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี 

คราวนี้เมื่อมีการยกเสา ทำระเบียงด้านบน พื้นที่ส่วนที่เป็นลานหน้าบ้านจึงได้ใช้ประโยชน์จากระเบียงนั้น พื้นระเบียงทำหน้าที่เหมือนหลังคาของลานด้านล่าง มองดูแล้วให้ภาพเหมือนใต้ถุน เกิดเป็นพื้นที่ใช้สอยเพิ่มอีกจุดหนึ่ง แถมยังมีหลังคาไว้ป้องกันแดดฝนไปในตัวด้วยนั่นเอง

2. ใต้ถุนของบ้านสุดโมเดิร์น

อย่างที่เราได้บอกไป ใต้ถุนไม่จำเป็นต้องผูกอยู่กับบ้านแบบไทยเสมอไป เพราะบ้านจากหลายประเทศก็มีใต้ถุนในแบบของตัวเอง สำหรับบ้านหลังที่นำมาให้ชมในภาพนี้ แม้หน้าตาจะดูโมเดิร์นมาก แต่ก็สามารถออกแบบให้มีใต้ถุนประกอบอยู่ได้ เป็นใต้ถุนที่มีผนังด้านหนึ่งตกแต่งเป็นกรอบสี่เหลี่ยมล้อไปกับรูปทรงของบ้าน ช่วยขับให้เส้นสายและรูปทรงเรขาคณิตของบ้านยิ่งดูโดดเด่นขึ้น

3. ใต้ถุนที่เกิดจากความต่างของพื้นที่

ใต้ถุนของบ้านหลังนี้เกิดขึ้นเพราะตัวบ้านตั้งอยู่บนเนิน เพื่อเสริมให้ตัวบ้านที่เรียงตัวไปตามลาดเนินวางอยู่ได้อย่างสมดุล จึงต้องมีการเสริมเสารับน้ำหนักและเกิดเป็นที่ว่างที่เป็นส่วนใต้ถุนนี้ขึ้น แทนที่จะทำเป็นห้องแบบปิด ใต้ถุนที่เปิดโล่งนี้จะทำให้บ้านดูโปร่ง ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบอีกด้วย

4. ใต้ถุนแบบไทยกับคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่น

ส่วนหน้าของบ้านพร้อมใต้ถุนแบบไทยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อยกบ้านหนีน้ำ หรือใช้เป็นที่นั่งเล่นท่ามกลางลมพัดสบาย แต่เป็นไปเพื่อการออกแบบ โดยทาง 株式会社シーンデザイン建築設計事務所 (Scene Design) บริษัทสถาปนิกในญี่ปุ่น ผู้ออกแบบ Cafe MON Marushime สร้างส่วนนี้เข้ามาเพื่อเสริมบรรยากาศแบบอาเซียนให้คาเฟ่แห่งนี้นั่นเอง พร้อมเชื่อมโยงกับการตกแต่งภายในที่ใช้ไม้และเฟอร์นิเจอร์ไม้ในแนวที่เข้ากับใต้ถุนด้านหน้า นอกจากจะเสริมบรรยากาศให้ร้านแล้ว ยังทำให้คาเฟ่นี้ดูสะดุดตา เป็นที่จดจำของผู้คนอีกด้วย

5. ใต้ถุนหรือสนามเด็กเล่น

홍제동 개미마을 주택 프로젝트, OBBA OBBA Modern houses

เราไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ชั้นล่างของบ้านทั้งหมดทำใต้ถุน แต่สามารถประยุกต์ใต้ถุนกับส่วนที่เป็นชานหน้าบ้านให้อยู่ร่วมกันได้ อย่างเช่นบ้านจากเกาหลีหลังนี้ที่สร้างใต้ถุนแบบโมเดิร์นๆ ไว้หน้าบ้าน ทำหน้าที่เป็นทั้งใต้ถุนและชานหน้าบ้านไปพร้อมๆ กัน 

อ้อ! จากภาพที่เราเห็น ดูเหมือนว่าสถาปนิกจะออกแบบใต้ถุนนี้เผื่อไว้เป็นสนามเด็กเล่นของเด็กๆ เสียด้วยสิ

6. ใต้ถุนที่แสนจะเข้ากับพื้นที่โดยรอบ

บ้านหลังนี้เรียกได้ว่าสร้างขึ้นเพื่อให้เข้ากับธรรมชาติโดยรอบ ทั้งตัวบ้านที่เป็นไม้ สร้างในสไตล์รีสอร์ท หรือจะเป็นการออกแบบตัวบ้านให้มีหน้าต่างและประตูบานกว้าง สามารถรับลมเย็นๆ และอากาศสดชื่นที่อยู่รอบบ้านได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น ทั้งนี้ตัวใต้ถุนของบ้านก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีส่วนที่กั้นผนังอยู่บ้าง แต่ก็มีพื้นที่เปิดมากกว่า ทำให้ผู้ที่ใช้งานพื้นที่นั้นสามารถสัมผัสกับธรรมชาติรอบตัวได้เป็นอย่างดี ทั้งอากาศที่ถ่ายเท หรือภาพสวน สนามหญ้าเขียวขจีที่มองออกไปได้อย่างสุดลูกหูลูกตา

7. ยกพื้นสูงแล้วก็ยังมีใต้ถุนอีกต่อหนึ่ง

หากบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในไทย คงมีคนแซวว่าสร้างบ้านเตรียมไว้หนีน้ำขั้นสุดอย่างแน่นอน เพราะนอกจากบ้านสองชั้นหลังนี้จะมีพื้นที่ส่วนที่เป็นใต้ถุนแล้ว ก็ยังยกพื้นบ้านให้สูงจากพื้นดินขึ้นมาอีกด้วย  แต่ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมความแข็งแรงให้ฐานรากของบ้านซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาที่เต็มไปด้วยกรวดหินนั่นเอง โดยออกแบบให้เป็นเหมือนพื้นก่อหินขึ้นมา ดูรัสติกเข้ากับส่วนใต้ถุนและตัวบ้านทั้งหลัง มองดูแล้วทำให้บ้านดูเข้มแข็ง บึกบึน ขึ้นมาอีกระดับหนึ่งทีเดียว

(สนใจอ่านเพิ่มเติมเรื่องใต้ถุนบ้านได้ที่ บ้านไม้ใต้ถุนสูง ความงดงามของสถาปัตยกรรมไทย)

Need help with your home project?
Get in touch!

Highlights from our magazine